top of page

วิน-วินกันทั้งคู่ เมื่อชาวออฟฟิศพาสัตว์เลี้ยงมาทำงาน

Updated: Jan 6, 2023

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้สัมผัสกับชีวิตการ Work from Home กันอย่างเลี่ยงไม่ได้หลายคนที่ทำงานหรือเรียนอยู่บ้านคนเดียวก็อาจจะเกิดอาการเหงาเพราะขาดการ เข้าสังคม โชคดีไปสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยงเพราะน้องหมาน้องแมวนี่แหละที่ช่วยไม่ให้เราเสียสติไปก่อนในช่วงที่ออกจากบ้านไม่ได้ แต่พอถึงเวลาต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศจริง ๆ ก็กลายเป็นติดการที่มีน้องหมาน้องแมวมาคลอเคลียระหว่างทำงานไปเสียแล้ว แต่จะไม่ไปทำงานก็ไม่ได้เพราะยังต้องหาเงินมาเลี้ยงเจ้านายสี่ขาอยู่ ในเมื่อเป็นแบบนี้และบวกกับองค์กรยุคใหม่ ๆ ในต่างประเทศก็มีนโยบาย Pets in Workplace ให้เห็นเป็นตัวอย่างมาหลายปีแล้วเพราะจริง ๆ การมีสัตว์เลี้ยงในที่ทำงานมีประโยชน์กับตัวพนักงานและสัตว์เลี้ยงมากกว่าที่เราคิด บริษัทหลาย ๆ แห่งในไทยจึงเริ่มมีนโยบายที่อนุญาตให้พนักงานนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปทำงานด้วย หรือแม้แต่มีสัตว์เลี้ยงประจำอยู่ที่ออฟฟิศเลย



ทำไมต้องมีนโยบาย Pets in Workplace


สาเหตุที่หลาย ๆ องค์กรเริ่มมีนโยบายให้พนักงานนำสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นน้องหมาหรือ น้องแมวไปทำงานด้วย เพราะว่าปัจจุบันสังคมเริ่มตื่นตัว และให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ประกอบกับมีหลายงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าการมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในออฟฟิศนั้นจริง ๆ แล้วมีประโยชน์กับพนักงานออฟฟิศมากกว่าที่เราคิด ซึ่งมีทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในที่ทำงานโดยตรง และงานวิจัยที่เกี่ยวกับประโยชน์ของสัตว์เลี้ยงต่อมนุษย์ ตัวอย่างเช่น USC University of Southern California ที่ได้มีการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและเขียนเป็นบทความที่อธิบายถึงเรื่องประโยชน์ของการมีสัตว์เลี้ยงในที่ทำงานว่าส่งผลดีต่อชาวออฟฟิศอย่างไร ทำให้นโยบาย Pets in Workplace เริ่มแพร่หลายและเป็นทางการมากขึ้นในหลาย ๆ องค์กรนั่นเอง



ประโยชน์ของการพาสัตว์เลี้ยงไปที่ทำงาน


น้องหมาน้องแมวสามารถช่วยรักษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของชาวออฟฟิศได้เป็นอย่างดี ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องมานั่งทำงานอยู่ในท่าเดิม ๆ ตลอดทั้งวัน และจดจ่อกับงานเป็นเวลานานก็อาจจะเกิดความเครียด ความวิตกกังวล หรือไม่สบายตัว สัตว์เลี้ยงจะช่วยดึงความสนใจเราออกจากการทำงานชั่วคราว ได้มีเวลาเล็กน้อยในการผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานกลับมาเต็มที่พร้อมลุยงานอีกครั้ง และการได้ลุกจากโต๊ะทำงานมาแหย่น้องหมาน้องแมวเล่นก่อนจะกลับไปทำงานต่อก็ถือเป็นการยืดเส้นยืดสายอย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรมโรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศได้อีกด้วย


ไม่เพียงเท่านั้นการมีเพื่อนตัวน้อยของเราอยู่ในออฟฟิศยังช่วยลดบรรยากาศตึงเครียดในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นระหว่างตัวพนักงานกันเอง หรือระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง เพิ่มหัวข้อสนทนา เพิ่มกิจกรรมร่วมกันในออฟฟิศ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในออฟฟิศได้ด้วย เช่น บางคนอาจจะมีเพื่อนร่วมงานคนที่ไม่เคยคุยด้วยเลยมาเล่นกับแมวหรือหมาของเรา ทำให้ได้พูดคุยกัน สร้างบรรยากาศที่ดีภายในออฟฟิศ แถมยังช่วยเพิ่มความสุขในการทำงานอีกด้วย แค่คิดว่านั่งทำงานไปมีอุ้งเท้าเล็ก ๆ อุ่น ๆ ของเจ้าเหมียวมานวดตักหรือมาคลอเคลียก็ฟินแล้ว


ข้อดีอีกข้อของการที่เจ้านายพาสัตว์เลี้ยงไปที่ทำงานได้ ก็คือน้องหมาน้องแมวไม่ต้องเหงาอยู่บ้านโดยเฉพาะหมาหรือน้องแมวบางตัวที่ติดเจ้านายมากถึงขั้นหงอยเหงาเวลาที่เจ้านายไม่อยู่บ้าน ก็จะได้ใช้เวลาร่วมกันตลอดวันไปเลย ถือว่าวิน-วินทั้งคู่



เตรียมตัวยังไงก่อนจะพาสัตว์เลี้ยงไปออฟฟิศ


มีข้อควรระวังสำหรับคนที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปที่ทำงานก็คือ สัตวเลี้ยงของเราจะต้องถูกฝึกมาในระดับหนึ่ง หรือจะต้องไม่ดุร้ายก้าวร้าว เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายแก่เพื่อนร่วมงานหรือทรัพย์สินอื่น ๆ น้องหมาน้องแมวจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนครบตามจำนวนที่ต้องฉีด ควรตรวจเช็คกับบริษัทให้ดีก่อน ว่าบริษัทของเรามีนโยบายให้นำสัตว์เลี้ยงไปได้ไหม และต้องไม่มีใครในที่ทำงานมีอาการแพ้ขนสัตว์หรือแพ้แมวด้วยนะ สำคัญเลยคือเจ้าของจะต้องเตรียมอุปกรณ์การดูแลน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงของตัวเองไปให้พร้อมต้องรักษาความสะอาดของส่วนรวมให้ดีเพราะบางบริษัทอาจจะไม่ได้มีสวัสดิการตรงส่วนนี้


บริษัทใหญ่ ๆ ในต่างประเทศหลาย ๆ แห่งเช่น Google และ Amazon ก็มีนโยบายจริงจังในการให้พนักงานพาสัตว์เลี้ยงไปที่ทำงานเพราะหลาย ๆ องค์กรเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ของสัตว์เลี้ยงต่อตัวพนักงานของเขา ทั้งช่วยลดความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานในระยะยาว รวมไปถึงสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และปัจจุบันไทยเองก็มีหลายบริษัทที่อนุญาตให้พาสัตว์เลี้ยงไปที่ทำงานได้แล้ว ที่ Dope Eyes เองก็มีน้องหมาแวะเวียนมาเล่นที่ออฟฟิศอยู่บ่อย ๆ แล้วออฟฟิศของเพื่อน ๆ มีสัตว์เลี้ยงไปวิ่งเล่นบ้างหรือยังมาแชร์กันได้นะ




21 views0 comments
bottom of page