top of page

กล่องสุ่ม กลยุทธ์สำหรับคนชอบเสี่ยง

จากกระแสที่แม่ค้าสาวชื่อดังทำลายสถิติขายสินค้ากล่องสุ่มรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทภายในเวลา 5 นาที จนทำให้หลาย ๆ คนเริ่มหันมาสนใจวิธีทางการตลาดนี้


แล้วกลยุทธ์กล่องสุ่มเริ่มมาจากไหน?

โดยกลยุทธ์กล่องสุ่มนี้คาดว่า น่าจะได้ต้นแบบมาจากการสุ่ม “กาชาปอง” ลูกบอลพลาสติกที่ซ่อนของไว้ให้คนที่สุ่มได้ลุ้นกันว่าจะได้ของอะไรข้างใน ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจคิดว่ากาชาปองนี้ เป็นวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น แต่จริง ๆ แล้ว ต้นกำเนิดของมันเริ่มมาจากประเทศอเมริกาในปี 1907 โดย Adams Gum บริษัทผลิตตู้หมากฝรั่งหยอดเหรียญ​ และต่อมาในปี 1965 ก็เริ่มมีการนำกาชาปองเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จากบริษัท PENNY


นอกจากการเข้ามาของกาชาปองที่เป็นต้นแบบของ Lucky Bag แล้วยังมีอีกแหล่งข้อมูลให้คำอธิบายไว้ว่า Lucky Bag หรือ ฟุกุบุคุโระ (Fukubukoro) คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย ยุคเอโดะ (1603- 1868) โดยร้านกิโมโนได้ทำการคละสินค้าแล้วจัดใส่ถุงเพื่อวางขายและเรียกว่า “ถุงเอบิซึ” ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น ฟุกุบุคุโระ ที่แปลว่าโชคดีในช่วงสมัยยุคเมจิ (1868 - 1912) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลาย ๆ คนที่เคยไปญี่ปุ่นในช่วงเดือนธันวาคมหรือช่วงเทศกาลสำคัญอย่างคริสต์มาสและปีใหม่แบบนี้ อาจจะเคยเห็นร้านค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ขนมก็ออกมาแข่งกันจัดเซท Lucky Bag วางขายหน้าร้านกันให้ทั่ว


อ่านมาจนถึงตอนนี้ คงมีคำถามกันในใจแล้วว่าแล้วกล่องสุ่มคืออะไร?

กล่องสุ่ม หรือ Mystery Box เป็นกลยุทธ์ที่มีคอนเซปต์คล้าย ๆ กับ Lucky Bag ที่ผู้ขายจะนำสินค้าใส่คละไว้ในกล่อง โดยผู้ซื้อจะจ่ายในราคา Fixed Cost และจะไม่มีทางรู้ว่าสินค้าในนั้นเป็นอะไรบ้าง และด้วยเสน่ห์ของกล่องสุ่มที่เล่นกับ “ความตื่นเต้น” และ “ความไม่รู้” ว่าจะได้อะไร จึงกลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่หลาย ๆ ร้านอาจจะไม่สามารถขายสินค้าในสต็อกได้ทัน หรืออยากลองส่งสินค้าใหม่ให้ลูกค้าได้ทดลองใช้อีกด้วย โดยปัจจุบันกล่องสุ่มก็มีสินค้าหลากหลายประเภท เช่น กล่องสุ่มอาหารทะเล กล่องสุ่มเสื้อผ้า กล่องสุ่มรองเท้า กล่องสุ่มของมือสอง กล่องสุ่มสินค้าดิสนีย์ กล่องสุ่มเครื่องเขียน รวมไปถึงกล่องสุ่มไอโฟนและกล่องสุ่มทองคำ


การเข้ามาของกล่องสุ่มในประเทศไทย

ประเทศไทยได้เริ่มมีการนำกลยุทธ์กล่องสุ่มเข้ามาใช้ครั้งแรกผ่านการสร้างคอนเทนต์จากเหล่า Youtuber และ Influencer ตั้งแต่ช่วงปี 2019 โดยในช่วงนั้น Youtuber ที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแม่กล่องสุ่มคือ ส้มมารี ที่มีช่วง มิตรรักนักสุ่ม บวกกับช่วงที่ Unbox พร้อมกับแสดง Reaction ไปพร้อม ๆ กันโดยคอนเทนต์นี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด จนทำให้มีเพลง กล่องสุ่ม ออกมาในวันที่ 4 มิ.ย. เมื่อปีที่ผ่านมา และในปี 2021 นี้กระแสที่ทำให้กล่องสุ่มยิ่งเป็น Social Talk คือการที่ พิมรี่พายขายทุกอย่างสามารถทุบสถิติตัวเองด้วยยอดขายกว่า 100 ล้านภายในเวลาแค่ 5 นาที


เทคนิคการขายและการซื้อกล่องสุ่มให้ปัง!


เชื่อว่าด้วยกระแสอันร้อนแรงนี้ ใครไม่ทำกล่องสุ่มถือว่า Outdated มาก ๆ Dope Eyes จึงรวบรวมเทคนิคการขายกล่องสุ่มที่ดีมากฝากกัน

1. คละสินค้าต้นทุนถูก กับสินค้าที่คนไม่ค่อยซื้อ

กล่องสุ่มถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ระบายสินค้า โดยอาจจะนำสินค้าที่มียอดขายต่ำ หรือต้นทุนต่ำมาใส่ผสมลงไปในกล่อง แต่ก็ยังคงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ โดยไม่ควรนำของที่มีตำหนิ หรือหมดอายุแล้วมาใส่ลงไป


2. มีหลากหลายราคาให้เลือก

การมีหลากหลายราคา เช่น ราคา 99, 199, หรือ 299 เป็นต้น ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการเลือกมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราเองก็มีสิทธ์ในการขายของได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะมันสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัยและทุกกลุ่ม


3. สินค้าในกล่องต้องดูดีและสามารถใช้งานได้จริง


สินค้าข้างในกล่องสุ่ม นอกจากราคาที่จะต้องคุ้มค่าแล้ว สินค้าต้องดูดีและสามารถใช้งานได้จริงเพราะคงไม่มีใครอยากได้ของที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต นอกจากนี้สินค้าข้างในต้องมีคุณภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการโดน Complain ในภายหลัง


4. ดีไซน์กล่องต้องดูเนี้ยบ น่าเชื่อถือ


ดีไซน์ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะซื้อกล่องสุ่มของเราหรือไม่ หากร้านของเราเป็นร้านที่ภาพลักษณ์ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะซื้อกล่องสุ่มจากร้านของเรา โดยเฉพาะยิ่งกับกล่องสุ่มที่มีราคาแพง นอกจากของภายในต้องมั่นใจว่าสมกับราคาแล้ว คุณภาพ และดีไซน์ของกล่องด้านนอกต้องไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย เพราะกล่องสุ่มนี้อาจจะกลายเป็นของขวัญที่ลูกค้านำไปส่งมอบต่อก็เป็นได้


5. มีการโปรโมทก่อนขายจริง


การโปรโมทช่วยกระตุ้นความอยาก และสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้า ก่อนวางขายกล่องสุ่ม แนะนำให้โปรโมทภาพรวมแบบคร่าว ๆ ว่าภายในกล่องสุ่มจะมีสินค้าประเภทไหนคละรวมอยู่บ้าง หากมีสินค้าที่ลูกค้าต้องการซื้อ หรือมีสินค้าที่ลูกค้าเห็นว่าคุ้มที่จะจ่าย ก็จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นนั่นเอง


15 views0 comments
bottom of page