top of page

Tsundoku เพราะความสุขของฉันคือการดองหนังสือ

มีใครเป็นเหมือนกันไหม ที่เวลาเข้าร้านหนังสือแล้ว มันอดใจไม่ไหวจะต้องซื้อติดไม้ ติดมือออกมาสักเล่ม ยิ่งเวลาที่ได้ไปเดินงานหนังสือ แล้วเจอเล่มที่เราอยากอ่านลดราคาเต็มไปหมด คอหนังสืออย่างเราจะไม่ซื้อได้ยังไง แต่สุดท้ายหนังสือเล่มนั้นก็ถูกนำไปวางอยู่บนกองหนังสือที่ซื้อไว้ก่อนแล้วอ่านทีหลังเหมือนเดิม จนกลายเป็นการดองหนังสือเหล่านั้นแทน หรือที่เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “Tsundoku つんどく”



Tsundoku ชะตาที่เหล่านักอ่านมิอาจเลี่ยง


จริง ๆ คำว่า “ซึนโดคุ (Tsundoku)” นี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว โดยเป็นการผสมผสานของคำในภาษาญี่ปุ่นระหว่าง “ซึนเดะ-โอคุ (tsunde-oku)” ที่ใช้กับพฤติกรรมที่ชอบซื้อของมาก่อนแล้วใช้ทีหลัง กับ “โดคุโช (dokusho)” ที่แปลว่าการอ่าน คำว่า Tsundoku จึงใช้กับพฤติกรรมที่ชอบซื้อหนังสือมาก่อน เพื่อที่จะไว้อ่านทีหลัง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อ่าน จนกลายเป็นกองหนังสือที่วางไว้เฉย ๆ เต็มห้องไปหมด



มีอีกคำหนึ่งที่เราอาจจะคุ้นเคยกัน คือ Bibliomania ที่ไว้ใช้กับพฤติกรรมการซื้อหนังสือเหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างกัน ตรงที่ Bibliomania ใช้กับคนที่ชอบซื้อ หรือสะสมหนังสือ โดยไม่มีความตั้งใจที่จะอ่านตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ส่วน Tsundoku คือคนที่มีความตั้งใจที่จะอ่านหนังสือ แต่ซื้อมาแล้วไม่ได้อ่าน


ทำยังไงให้เลิกดอง


แม้ว่า Tsundoku จะไม่ใช่พฤติกรรมผิดปกติ หรืออาการทางจิตเวชแบบ Hoarding Disorder หรือโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจัง แต่หากมีวิธีที่สามารถแก้ได้ ก็คงดีต่อสุขภาพทางการเงินของเราไม่น้อย ไปลองดู 4 วิธีหลีกเลี่ยงพฤติกรรม Tsundoku ที่จะช่วยบอกลาเหล่าหนังสือกองโตในห้องของคุณ


1. ให้โควตาในการซื้อหนังสือกับตัวเอง

หลายคนที่มีพฤติกรรม Tsundoku มักจะอดใจไม่ไหวเมื่อเจอหนังสือออกใหม่ ดังนั้นเราควรจำกัด

จำนวนหนังสือที่เราจะซื้อต่อเดือนไว้ เช่น สามารถซื้อหนังสือได้แค่ 3 เล่ม/เดือน เท่านั้น


2. อย่าทำให้การอ่านหนังสือเป็นหน้าที่

พอเราเห็นกองหนังสือเยอะ ๆ เราก็มีความรู้สึกว่าเราต้องรีบอ่านมันให้หมด จนบางครั้งกลายเป็นการบังคับตัวเองให้อ่าน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้มีอารมณ์อ่านด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น อยากอ่านตอนไหนก็อ่าน หรือจะอ่านหลาย ๆ เล่มพร้อมกันก็ย่อมได้ คุณไม่จำเป็นต้องตั้งกฎประเภทจะเริ่มเล่มใหม่ได้ ก็ต่อเมื่ออ่านเล่มนี้จบ เพราะมันจะกลายเป็นไม่ได้อ่านสักเล่มเดียว


3. เล่มนี้ไม่ถูกใจก็แค่ส่งต่อ

มีหนังสือหลายเล่มที่เราคิดว่าเราจะชอบมัน แต่พออ่านแล้วกลับไม่ถูกใจ สุดท้ายก็ปล่อยมันให้อยู่ในกองหนังสือที่ดองต่อไป ดังนั้นการส่งต่อ หรือขายต่อให้กับคนที่ต้องการจะอ่านจริง ๆ จะช่วยทั้งลดปริมาณกองหนังสือในห้องเรา และหนังสือเหล่านั้นก็ไม่ถูกทิ้งไปเฉย ๆ อย่างไร้ประโยชน์ด้วย


4. เลือกหนังสือที่เป็นคู่แท้ของเราจริง ๆ

นักอ่านส่วนใหญ่น่าจะสามารถรู้ได้ว่าหนังสือเล่มไหนที่มันสปาร์คจอยกับเรา สังเกตง่าย ๆ หากเล่มไหนที่เราเริ่มอ่านแล้วสามารถอ่านจบในเวลาอันรวดเร็ว หรือไม่ว่าจะหยุดอ่านไปนานแค่ไหน ก็จะกลับมาอ่านต่อให้จบ วิธีนี้นอกจากจะทำให้เรารู้พฤติกรรมการอ่านของเราแล้ว ยังทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเรามีความสนใจในเรื่องอะไรกันแน่


ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นนักดองหนังสือเหมือนกัน เลยมองว่าการเป็น Tsundoku ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายซะทีเดียว ดังนั้นไม่ต้องรู้สึกผิดหากเราจะมีหนังสือกองโตรอให้อ่านอยู่ในห้อง เพราะบางทีหนังสือบางเล่มที่เราอ่านแล้วไม่ชอบ พอได้กลับมาอ่านใหม่ในวันที่เราโตขึ้น เรากลับรู้สึกอินหนังสือเล่มนั้นไปเลย และบางทีแค่ได้มองไปบนชั้นที่เต็มไปด้วยหนังสือที่เราชอบ ก็มีความสุขตั้งแต่ยังไม่เปิดอ่านเลยล่ะ



45 views0 comments

Comments


bottom of page