top of page

Dope Why: ทำไมแป้นพิมพ์บนคีย์บอร์ดไม่เรียงตามตัวอักษร

รู้หรือไม่ว่าในอดีตคีย์บอร์ดมีแป้นพิมพ์มากถึง 7 แถว และกว่า 84 ตัวอักษร!!


เชื่อว่าในระหว่างที่กำลังพิมพ์งาน หรือพิมพ์คุยกับเพื่อนอยู่ คงมีหลายคนเคยตั้งคำถามในใจว่าทำไมแป้นพิมพ์บนคีย์บอร์ดถึงไม่เรียงตามตัวอักษร A-Z หรือ ก-ฮ ให้มันจบ ๆ นะ


แต่ก่อนที่จะมาหาคำตอบกันว่าทำไมถึงต้องวางตัวอักษรสลับไปมา เราต้องมารู้ความแตกต่างระหว่างคีย์บอร์ดในอดีตและในปัจจุบันกันซะก่อน

ในอดีตคีย์บอร์ดไม่ได้เป็นเหมือนที่เราใช้กันในทุกวันนี้เพราะมันมีมากถึง 7 แถว 84 ตัวอักษร เรียกได้ว่ามันมีจำนวนมากกว่าแป้นพิมพ์ในปัจจุบันถึง 2 เท่า! โดยเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกของโลกนี้ ถูกผลิตขึ้นในปี 1694 โดยวิศวกรชาวอังกฤษชื่อ 'เฮนรี่ มิล' แต่เนื่องจากแป้นพิมพ์ดีดในสมัยก่อนเป็นการเรียงตามตัวอักษรจริง ๆ ทำให้พบกับปัญหาการพิมพ์ยาก และหากสังเกตดี ๆ บนแป้นพิมพ์จะมีไม่เลข 1 และ 0 เนื่องจากจะให้ใช้ I และ O แทน ซึ่งเมื่อใช้ไปสักพักเวลาพิมพ์เร็วขึ้นก้านพิมพ์ดีดมักจะขัดกันเสมอ


ด้วยเหตุนี้เองทำให้คริสโตเฟอร์ ลาแธม โชลส์​ (Chistopher Latham Sholes) วิศวกรชาวอเมริกัน ตัดสินใจเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในปี 1868 โดยมีการเพิ่มปุ่ม Shift และ รวม 2 ตัวอักษรให้อยู่ในปุ่มเดียวเพื่อประหยัดเนื้อที่ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งตัวอักษรที่ต้องผสมคำกันบ่อย ๆ กระจายกันไปคนละฝั่งเพื่อให้นักพิมพ์ดีดสามารถพิมพ์โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างพิมพ์ และพิมพ์ได้ช้าลง จนทำให้ก้านพิมพ์ดีดไม่ขัดกันในที่สุด

โดยการเรียงแบบนี้เรียกว่าการเรียงในรูปแบบ QWERTY (คิวเวอร์ตี้)​ จากการนำตัวอักษร 6 ตัวแรกจากแถวบนมาตั้ง ได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนสมบูรณ์ ในปี 1878 และได้จดสิทธิบัตร บนเครื่องพิมพ์ดีดรุ่น REmington No.2 จาก E. Remington and Sons ถึงแม้ตอนนี้เราจะไม่ได้พิมพ์ดีดกันอีกต่อไปแล้วแต่การพิมพ์รูปแบบ QWERTY นี้ยังคงมีอิทธิพลส่งต่อมาถึงแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์จนกลายมาเป็นที่มาของแป้นพิมพ์ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้


รูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ QWERTY?


จริง ๆ แล้วนอกจากการพิมพ์แบบ QWERTY แล้วยังมีรูปแบบการพิมพ์อื่น ๆ ที่ได้คิดค้นขึ้นมา อย่างเช่น DVORAK ที่ออกแบบโดย Dr. August Dvorak จากการที่เขาไม่เห็นด้วยกับการพิมพ์ในแบบ QWERTY เขาจึงได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาการพิมพ์แบบ DVORAK ขึ้นในปี 1932 และสามารถจดสิทธิบัตรได้ในปี 1936 ซึ่งการพิมพ์ในรูปแบบนี้เป็นการนำจุดบกพร่องของ QWERTY มาปรับปรุง และคิดคำนวณ​ข้อมูลจากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่นิ้วจะต้องเคลื่อนไปกดปุ่มตัวอักษรอันถัดไป อักษรที่มักใช้บ่อย หรือว่าจะเป็นท่าทางในการพิมพ์ และการจัดกลุ่มตัวอักษรส่วนใหญ่ไว้ทางขวาจากการที่คนส่วนใหญ่ถนัดขวา

ซึ่งหลักการหลัก ๆ ของการพิมพ์แบบ DVORAK เลยก็คือการให้มือขวาพิมพ์ตัวอักษร ส่วนมือซ้ายจะเป็นการพิมพ์สระ “AEIOU” จึงทำให้แป้นทางซ้ายมือจะมีแค่สระในภาษาอังกฤษนั่นเอง แต่ถึงแม้ว่ามันจะได้รับการคิดค้นและวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันก็มีคนเพียงส่วนน้อยมาก ๆ ที่ใช้แป้นพิมพ์แบบนี้อยู่ เพราะจากการทดสอบหลายครั้ง การพิมพ์แบบ DVORAK ก็ไม่สามารถเอาชนะ QWERTY ได้เลย จนรายงานได้ปิดลงท้ายไว้ว่า การพิมพ์แบบ DVORAK ไม่มีทางสามารถเอาชนะ QWERTY ได้หรอก และส่งผลให้คนส่วนใหญ่ลดการใช้แป้นพิมพ์แบบ DVORAK ไปโดยปริยาย


ใครคือคนที่พิมพ์ได้เร็วที่สุดในโลก?แล้วเจ้าของสถิติใช้การพิมพ์แบบไหนกันนะ


ในการวัดการพิมพ์เราจะใช้หน่วยการวัด WPM หรือ Words Per Minute/คำต่อนาที ซึ่งเจ้าของสถิติโลกคนแรกคือ Rose Fritz จากการทำความเร็วได้ 82 WPM และมีการบันทึกเอาไว้ว่าเธอสามารถพิมพ์ได้ 4,001 หรือ ภายใน 6 นาทีโดยไม่พิมพ์ผิดแม้แต่คำเดียว


เจ้าของสถิติที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการตกเป็นของสาวชิคาโกอย่าง Stella Pajunas ในปี 1946 โดยเธอสามารถทำความเร็วได้ถึง 216 WPM ซึ่งอัตราเฉลี่ยมากถึง 1,080 ครั้งต่อนาที


และอีกเช่นเคยแชมป์ในสมัยปัจจุบันก็ใช้แป้นพิมพ์แบบ QWERTY โดยสถิติที่ Sean Wrona สามารถทำได้เร็วสูงสุดคือ 256 WPM แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถทุบสถิตินี้ของเขาไปได้ และถึงแม้ว่าสถิติของเขาจะยังไม่ถูกรองรับอย่างเป็นทางการแต่ในการแข่งขัน Ultimate Typing Championship ในปี 2010 ก็เป็นตัวพิสูจน์ได้แล้วว่าความเร็วของเขาไม่ใช่เพียงแค่คำโอ้อวด


การเข้ามาของคีย์บอร์ดในประเทศไทย

คีย์บอร์ดในประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ โดยแบบแรกใช้ชื่อว่า “เกษมณี” หรือถ้าจะให้เปรียบกับแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษก็คือแบบ “QWERTY” ซึ่งถูกออกแบบขึ้นโดยหมอยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ (พระอาจวิทยาคม) ร่วมกับพนักงาน 2 คนคือ นายสวัสดิ์ มากประยูร และนายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี (กิมเฮง) ซึ่งการพิมพ์รูปแบบนี้ใช้เวลากว่า 7 ปี จึงสามารถวางแป้นพิมพ์อักษรใหม่ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2474


อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันเท่าไหร่คือรูปแบบ “ปัตตะโชติ” ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากรูปแบบเกษมณี โดยสามารถทำความเร็วได้มากกว่าแบบเกษมณีถึง 25.8% แต่เนื่องจากในสมัยก่อนหากเราพิมพ์เร็วเกินไปจะทำให้ก้านพิมพ์ขัดกัน การพิมพ์ในรูปแบบนี้จึงไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่


หากใครอ่านแล้วรู้สึกอินกับการพิมพ์ละก็ Dope Eyes มีเว็บไซต์ที่วัดความเร็วในการพิมพ์มาแนะนำเผื่อเพื่อน ๆ คนไหนอยากวัดสกิลการพิมพ์เร็วของเรา ก็สามารถลองไปเล่นกันได้ที่ https://10fastfingers.com มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเลยนะ


266 views0 comments

Comments


bottom of page