ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากรณีการก็อปผลงานคนอื่นถือว่าเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย จนเรามักจะเห็นดาราศิลปินหรืออาชีพที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์หลายคนต่างก็ออกมาฟ้องร้องเรื่องการที่ผลงานของตัวเองถูกละเมิดสิทธิ์กันทั้งนั้น
ลิขสิทธิ์สำคัญแค่ไหน?
หากลองคิดดูว่าเวลาเราผลิตผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง แต่กลับมีใครก็ไม่รู้นำผลงานของเราไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวจนสามารถสร้างเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่เราที่เป็นเจ้าของผลงานกลับไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้นเพื่อปกป้องสิทธิ์เหล่านี้ให้กับเจ้าของผลงาน Copyright หรือลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้น
Copyright หรือลิขสิทธิ์ เป็นกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองงานสร้างสรรค์ทุกประเภท โดยลิขสิทธิ์นี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง (Intangible Property) และเจ้าของลิขสิทธิ์เองจะสามารถมอบสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการมอบสิทธิ์ให้ทั้งหมดหรือแค่บางส่วน ซึ่งตามหลักแล้วงานที่จะได้รับลิขสิทธิ์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นงานใหม่ (Novelty) แต่สิ่งที่งานนั้นต้องมีคือ Original ของผลงานที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร
ดังนั้น Copyright จึงเป็นอีกหนึ่งคำที่หลายคนคงเห็นผ่านตากันอยู่บ่อย ๆ เพราะมันคุ้มครองผลงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพยนตร์ เพลง งานเขียน การแสดง รายการวิทยุโทรทัศน์ ศิลปะ และงานทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น
แต่ก็มีงานบางประเภทที่เราสามารถนำมาใช้ได้โดยที่เจ้าของไม่สามารถฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน
ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของราชการ
คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
แล้วการกระทำแบบไหนบ้างที่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์?
การก็อปเนื้อหาทั้งหมด ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนคำเล็กน้อย โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการทำให้คนเข้าใจผิดว่างานนั้นเป็นของตนเอง
การนำภาพจากเว็บไซต์อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ก็มีจำกัดระยะเวลาคุ้มครอง
ไม่ใช่ว่าเมื่อเราจดลิขสิทธิ์แล้วงานของเราจะเป็นของเราไปได้ตลอด เพราะลิขสิทธิ์เองก็มีจำกัดระยะเวลาในการคุ้มครอง! โดยปกติแล้วการคุ้มครองลิขสิทธิ์จะมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อมีงานใหม่เกิดขึ้นและจะคุ้มครองไปตลอดชีวิตของเจ้าของผลงาน และยังคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีหลังจากที่ผู้สร้างผลงานเสียชีวิต แต่งานแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาในการคุ้มครองแตกต่างกัน
กรณีที่ผู้สร้างผลงานใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง ลิขสิทธิ์นั้นจะมีอายุ 50 ปีนับตั้งแต่งานนั้นถูกสร้างขึ้น
งานที่สร้างโดยคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐจะมีอายุ 50 ปีนับตั้งแต่งานนั้นถูกสร้างขึ้น
งานศิลปะประยุกต์ มีอายุลิขสิทธิ์ 25 ปีนับตั้งแต่งานนั้นถูกสร้างขึ้น
และเมื่อลิขสิทธ์หมดอายุผลงานชิ้นนั้นจะตกไปเป็นของใครล่ะ?
Walt Disney Autograph Walt Disney Signed Drawing of Mickey Mouse — Sketched Within a First Edition Copy of “The Art of Walt Disney” — An Exceptionally Rare Disney Piece
Photo: MILNE, A. A. and SHEPARD, E.H.. Winnie-The-Pooh. (1926)
คำตอบง่าย ๆ เลยก็คือผลงานชิ้นนั้นจะตกไปเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ได้ และตัวอย่างของผลงานที่เรารู้จักกันดีที่ลิขสิทธิ์กำลังหมดอายุคือ มิกกี้เม้าส์ตัวละครชื่อดังของ Disney ที่กำลังจะหมดอายุในปี 2024 และหมีพูห์ ตัวละครเอกจากเรื่อง Winnie The Pooh ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1926 และกำลังจะหมดอายุในปี 2022 นี้เช่นกัน
นอกจากคำว่าลิขสิทธิ์ ยังมีอีกคำหนึ่งที่คนมักแยกความแตกต่างไม่ค่อยออกนั่นก็คือคำว่าสิทธิบัตร โดยสิทธิบัตร หรือ Patent เป็นหนังสือที่ออกโดยรัฐเพื่อรับรองว่าคนคิดค้นนั้นเป็นเจ้าของและสามารถหาประโยชน์, กำไรจากงานชิ้นนั้นได้แด่เพียงผู้เดียว ซึ่งสิทธิบัตรนี้จะครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองการประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์และการออกแบบผลิตภัณฑ์
ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นใคร เจ้าของแบรนด์ หรือเป็นผู้บริโภคเราก็ควรเคารพในผลงานทุกผลงานและสนับสนุนผลงานที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น
Source | https://bit.ly/3rwtzfo , https://bit.ly/3FNOjnV , https://bit.ly/32mz6wC , https://bit.ly/3nKfXMi
Comments